top of page

วิกฤตเศรษฐกิจไทย จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่


วิกฤตเศรษฐกิจไทย จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่

ส่งออกติดลบ / ท่องเที่ยวหาย / ลดเป้าจีดีพี / กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯชะลอตัว / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่อง / หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูง / รายได้เฉลี่ยประชากรเติบโตช้า ฯลฯ

บรรยากาศเศรษฐกิจ-ปากท้องช่วงนี้หลายคนบ่น “อยู่ยาก-ทำมาหากินลำบาก” ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่อย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากที่เคยพูดว่า “เดี๋ยวจะดี” กันมาหลายครั้งกลับเปลี่ยนเทรนด์หันมาลดเป้าผลประกอบการกันหลายราย (บริษัทที่ดีก็มีนะครับแค่ช่วงนี้ฮิตลดเป้ากันเยอะผิดปกติ)

อยู่ๆเศรษฐกิจไทยก็เกิดปัจจัยลบมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย ไม่รู้เป็นเพราะกระแสลบใน Social Media มีมากเกินไป สื่อเร็ว คนแชร์กันเยอะ พูดกันแยะ จนทำให้เรากดดันเกินเหตุ หรือทั้งหมดมันเกิดขึ้นจริงและเรากำลังแย่!!! ร้ายแรงสุดคงเป็นสิ่งที่ลือกันหึ่งว่า “วิกฤต” กำลังจะมาและรอบนี้มันจะหนักสุดๆ

#เสี่ยวCREW ไม่ตัดสินสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตอนนี้ ให้นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินตัวจริง เป็นคนคอมเมนท์แล้วกันนะจ๊ะ

"ปรีดี ดาวฉาย" กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย

เศรษฐกิจไทย 5 เดือนแรกปีนี้มีสัญญาณที่อ่อนแรง สะท้อนจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในระดับต่ำ โดยช่วงที่เหลือของปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและขาดปัจจัยหนุน

ทั้งนี้ได้ปรับลดกรอบประมาณการ GDP ปีนี้เหลือ 2.9-3.3% จากเดิม 3.7-4.0% แม้รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่มองว่าอาจจะล่าช้าและไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับภาพรวมที่เกิดขึ้นไปแล้วในปีนี้

"ทิม ลีฬหะพันธุ์" นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณปัญหาทางเศรษฐกิจของไทย สะท้อนจากการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกติดลบ การท่องเที่ยวชะลอตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและยุโรปที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ล่าสุดธนาคารได้ปรับลด GDP ปีนี้เหลือเติบโตเพียง 3.3% จากเดิม 4% โดยต้องจับตาเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และความสามารถในการบริหารประเทศอย่างใกล้ชิด ว่า จะมีทิศทางการดำเนินนโยบายเชิงปฏิบัติได้หรือไม่ หากทำได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้บ้าง แต่หากล่าช้าจะส่งผลกลับกันในทางลบ

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์

สภาพเศรษฐกิจไทยเริ่มน่าเป็นห่วง ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวของคนไทยยิ่งเลวร้ายกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบการเติบโตของรายได้ต่อหัวรูปสกุลท้องถิ่นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะพบ ว่า รายได้คนไทยเติบโตเกือบต่ำสุดในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 2% ต่อปี ขณะที่อินเดีย จีน และ อินโดนิเซียโตเฉลี่ย 8-10% ต่อปี

ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นจากดีมานด์ในประเทศที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะพิจารณาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเดือนละ 2-3 พันล้านดอลลาร์ เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าตลอด อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และดัชนีค่าเงินบาทที่แข็งกว่า 20% เมื่อเทียบกับคู่ค้าในรอบ 5-6 ปีหลัง

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากนโยบายการเงิน-การคลังที่ตึงตัวและเข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะการละเลยการลงทุนภาครัฐ สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่ประเทศไทยแทบไม่มีการพัฒนาเลยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นแต่การเบิกจ่ายงบประจำ แต่ละเลยงบลงทุนมาโดยตลอด ประกอบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตึงตัวเกินไป เห็นได้จากภาระหนี้รัฐบาลกลางของไทยที่แทบจะต่ำที่สุดในโลก

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว มีปัจจัยเสี่ยงหลักที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางอ่อนแอ ส่งผลให้ภาพรวม GDP ปีนี้มีโอกาสเติบโตได้แค่ 3-3.3% ไตรมาส1/62 เติบโตได้แค่ 2.8% เท่านั้นต่ำที่สุดในรอบ 4-5 ปี

นอกเหนือจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแล้ว ปัจจัยในประเทศก็เป็นตัวแปรสำคัญกดดันเศรษฐกิจไทยเช่นกัน เพราะเป็นรอยต่อช่วงการเลือกตั้งรัฐบาลทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ขณะที่รายได้หลักจากภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนแม้จะเป็นบวกบ้าง แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำ ส่วนการบริโภคในประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เพราะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกๆปี

ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือน จัดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ในระยะสั้นคงจะแก้ไขได้ลำบาก ต้องแก้ไขในรูปแบบองค์รวม มุ่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน อาทิ ยกระดับภาคเกษตรของไทยในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดโซนนิ่งการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และระบบโลจิสติกส์

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเสริมด้านนวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือแม้แต่ในภาคประชาชนควรต้องยกระดับเรื่องการศึกษา ให้เข้าถึงข้อมูล ความรู้เรื่องการเงิน เป็นต้น ทางออกเศรษฐกิจไทยเวลานี้ สิ่งที่ยังช่วยประคับประคองได้คือรัฐบาลต้องเป็นพระเอก อัดฉีดงบลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ปัจจุบันเชื่อว่ายังมีงบประมาณใหม่ ที่สามารถนำมาลงทุนได้ราว 1-2 แสนล้านบาท ยิ่งดำเนินการได้เร็วเศรษฐกิจน่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนั้นต้องมีแนวทางกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้เกษตรกร แม้ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ไม่มาก แต่ก็น่าจะบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

"ในภาวะเศรษฐกิจไทยยังเป็นขาลง แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายประชานิยมต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ หรืออย่าทำให้ประชาชนเสพติด แต่ถ้าใช้นโยบายประชานิยมแบบถูกหลัก นำไปเพิ่มขีดความสามารถประเทศ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศในระยะยาว"

0 views0 comments
bottom of page