top of page

เปิดมุมมองหุ้น-เศรษฐกิจไทย 67 กับ 6 นักวิเคราะห์ ตัวตึง !!!



เปิดมุมมองหุ้น-เศรษฐกิจไทย 67 กับ 6 นักวิเคราะห์ ตัวตึง !!! #เห็นตลาดหุ้นทำท่าว่าจะฟื้นแต่เห็นหน้าคุณทำท่าว่าจะรัก

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยเหลือ Downside risk ไม่มากแล้ว ประเมินจาก Forward P/E ปัจจุบันที่ 14 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี ที่ 15 เท่า . และไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกำไร บจ.ปี 67 ที่คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 11 - 15% เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 67 แต่ขึ้นอยู่กับสามเงื่อนไข ดังนี้... . 1.รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว 3-4% ในปีหน้าและในปีถัดๆ ไป ข้อดีคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มดูสดใสขึ้น จากท่าทีล่าสุดของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย . ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง . อีกตัวแปรหลักคือ จีนที่รัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แล้ว และมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน . ดังนั้น ปีหน้าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ซึ่งเมื่อรวมกับภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี และกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะทยอยเร่งตัวขึ้น จากมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3% ในปีหน้า ไม่น่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล . โจทย์ที่ยากกว่า คือ การรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ (New Investment Cyle) เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ . รวมทั้งเริ่มจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ง่าย!!! และต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่แน่วแน่ . การเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4% ในระยะยาว พร้อม ๆ กับสร้างจุดขายใหม่ (Catalyst) ให้กับตลาดหุ้นไทย . 2. รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีความจำเป็น และเชื่อว่าตลาดทุนจะตอบรับเชิงบวกถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูง และส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง . 3. ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ . "อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกัน แม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา การฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน คือ หัวใจสำคัญ เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังดำเนินอยู่ โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งการเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหุ้นที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น และสม่ำเสมอขึ้น คือ แนวทางที่ถูกต้อง ตราบใดที่ยังอยู่ในกติกาสากล จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในที่สุด" . "สุกิจ อุดมศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะสร้างผลตอบแทนดีกว่าปี 66 เนื่องจากระดับ SET Index ปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Undervalue) แม้ตลาดฯ อาจจะยังมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 67 ที่ 1,750 จุด . สำหรับปัจจัยหนุนหลักในปี 67 จะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น และกลับมาลงทุนเพิ่ม . แม้จะยังมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม โดยภาพรวมคาดเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 66 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะเดียวกันคาดว่ากำไร บจ.จะขยายตัวได้ 10-15% ดีกว่าปี 66 ที่ชะลอตัว 10% . นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดลงช่วงครึ่งหลังปี 67 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ . สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 67 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ... 1. กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 2. กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 3. กลุ่มหุ้นที่ได้ ESG Score สูงระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก . สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส มีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหาร และพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ . ขณะที่ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก และ ปรากฏการณ์เอลนีโญ มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ส่วนความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยจะกระทบไม่รุนแรงมากเป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession เท่านั้น . "ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ" กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง คาดว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะฟื้นตัวตลอดปี ประเมินเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด ส่วนกำไร บจ.จะเติบโตประมาณ 15% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย . โดยในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย (ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 67 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 66 ที่อยู่ 16.40 เท่า . สำหรับปัจจัยบวกหลักจะมาจากการลงทุนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยงบประมาณน่าจะผ่านตั้งแต่ต้นปี และทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 67 จะอยู่ที่ระดับ 3.8% . ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย มองว่ายังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจเอเชียและอาเซียน หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้น จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และการกีดกันการค้าของสหรัฐต่อจีนน้อยลง ก็จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน . แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังดูไม่ดีและแย่ลงไปอีก การคาดหวังเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะลำบาก . สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้... 1.หุ้น : สัดส่วน 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) แต่ต้องรอดอกเบี้ยลดลงระดับหนึ่งก่อน นักลงทุนจึงจะมีความมั่นใจ ขณะที่หุ้นไทยยังดูดีเพราะปี 66 ลงไปมาก โครงสร้างหุ้นไทยเป็นกลุ่มธุรกิจวัฏจักร กำไรอาจดีดกลับได้หนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังตลาดหุ้นอื่นขึ้นไปแล้ว . โดยกลุ่มโดดเด่น คือ ธนาคาร, การบริโภคภายในประเทศ, ค้าปลีก ส่งออกแปรรูป, การท่องเที่ยว,อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอจากการคุมสินเชื่อ

2.ตราสารหนี้ : สัดส่วน 43% มองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรก เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะเห็นการปรับตัวลดลงทั่วโลก แต่ต้องเป็นตราสารหนี้คุณภาพ เพราะแม้จะเห็นแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่ได้ลงเร็ว 3.ทองคำ : สัดส่วน 12% เพราะในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ทองคำจะช่วยป้องกันความเสี่ยง . "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่มีฟันเฟืองหลายอย่างเข้ามาสนับสนุน ทั้งภาคการลงทุน-การส่งออก รวมถึงนักท่องเที่ยวปีหน้ามีโอกาสทะลุ 30 ล้านคน และปีถัดไปแตะ 40 ล้านคนเท่าระดับปกติ จะช่วยหนุนจีดีพีไทย ปีหน้าเติบโตระดับไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น . จากปัจจัยบวกข้างต้นจะสนับสนุนกำไร บจ.ปี 67 มีโอกาสเติบโต 10-13% และดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,628 จุด โดยปัจจุบันอยู่ระดับ 1,400 จุด คิดเป็น P/E ที่ 17 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ซึ่งถือว่าหุ้นไทยเป็นจุดน่าสนใจลงทุนมาก . สำหรับ กลยุทธ์ลงทุน แนะนำ เน้นเลือกหุ้นที่มีราคาหุ้นอยู่โซนล่าง ราคายังไม่ปรับขึ้นมาก หรือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือครองน้อยและเริ่มมีสัญญาณโตในปีหน้า หรือมีการแก้ไขปัญหารอจังหวะความเชื่อมั่นฟื้นกลับมา รวมถึงแนวโน้มกำไรมีทิศทางฟื้นตัวได้ . หุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มหุ้นใหญ่ ได้แก่ ค้าปลีก (CPALL), ไฟแนนซ์ (SAWAD, MTC), พลังงาน (GPSC), นิคมอุตสาหกรรม (WHA), อิเล็กทรอนิกส์ (HANA) และกลุ่ม J-Group (JMART, JMT) ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์ต่าง ๆ ข้างต้นในปีหน้า . "ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า ประเมินดัชนีหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปี 67 อยู่ที่ 1,520 จุด โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 1/67 ดัชนีฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง เพราะจะได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างมาตรการ Easy E-Receipt ประกอบกับจะมีความคืบหน้าเรื่องงบประมาณปี 67 และมาตรการ Digital wallet . อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 2-3/67 มีแนวโน้มปรับตัวลงได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรปจะเข้าสู่ช่วงชะลอตัว ขณะที่ไตรมาส 4/67 ก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่า SET Index จะสามารถประคองตัวไม่ให้ต่ำกว่าช่วงไตรมาส 3/67 ได้หรือไม่ ซึ่งโดยรวมมองบวกต่อ SET Index ในช่วงต้นปีมากที่สุด . ทั้งนี้ประเมินกำไร บจ.ปี 67 คิดเป็นกำไร/หุ้น (EPS) คาดว่าจะอยูที่ 92 บาท/หุ้น เติบโตขึ้น 8% เทียบกับปี 66 ที่คาดอยู่ระดับ 85 บาท/หุ้น หรือลดลง 7% เทียบปี 65 . สำหรับหุ้นที่น่าจับตา คือกลุ่ม Defensive Play และ Domestic Play เพราะคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ส่วนกลุ่มหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีโอกาสได้รับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกปี 67 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างสูง . กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ทยอยสะสมหุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานปี 67 จะเติบโตโดดเด่น อาทิ CPALL, GPSC, THCOM และ SYNC . "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) คาดว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 67 จะดีกว่าปี 66 เพราะระดับปัจจุบัน Valuation ค่อนข้างถูก หลังราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง . ทั้งนี้ประเมิน SET Index สิ้นปี 67 ที่ 1,592 จุด กำไร บจ.เติบโต 12% อยู่ที่ 89 บาท/หุ้น จากปี 66 ที่คาดอยู่ระดับ 80 บาท/หุ้น หรือลดลง 12% จากปี 65 . สำหรับกลยุทธ์ลงทุนปี 67 แนะนำ เลือกหุ้นรายตัวที่ราคาปรับตัวลงค่อนข้างแรงในปี 66 จน Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่แนวโน้มกำไรยังคงเติบโต ซึ่งเป็นหุ้นลักษณะที่จะสามารถกลับมา Outperform ได้ในปี 67 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาทิ DELTA, CRC, CBG และ BH . ส่วนหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากแนวโน้มผลการดำเนินงานและราคาหุ้นจะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ดั้งเดิม เพราะยังต้องติดตามว่า เป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนผ่านเพื่อการแข่งขันในอนาคตแค่ไหน โดยควรรอเห็นความชัดเจนในปี 67 ก่อน จึงค่อยตัดสินใจอีกที...

6 views0 comments
bottom of page